ระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือหลักธรรมาภิบาล (GOOD GOVERNANCE)

ระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือหลักธรรมาภิบาล
(GOOD GOVERNANCE)

หลักธรรมาภิบาล หมายถึง แนวทางในการจัดระเบียบเพื่อให้สังคมของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชนและภาคประชาชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และตั้งอยู่ใน ความถูกต้องเป็นธรรม ตามหลักพื้นฐานการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  ดังนี้
1. หลักนิติธรรม (The Rule of Law)
          หลักนิติธรรม หมายถึง การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจ หรืออำนาจของ ตัวบุคคล จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และความยุติธรรม รวมทั้งมีความรัดกุมและ รวดเร็วด้วย
2. หลักคุณธรรม (Morality)
         หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้อง ดีงาม การส่งเสริม ให้บุคลากรพัฒนาตนเอง ไปพร้อมกัน เพื่อให้บุคลากรมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบ วินัย ประกอบอาชีพสุจริต เป็นนิสัย ประจำชาติ
3. หลักความโปร่งใส (Accountability)
          หลักความโปร่งใส หมายถึง ความโปร่งใส พอเทียบได้ว่ามีความหมาย ตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม กับการทุจริต คอร์รัปชั่น โดยที่เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น ให้มี ความหมายในเชิงลบ และความน่าสะพรึงกลัวแฝงอยู่ ความโปร่งใสเป็นคำศัพท์ที่ให้แง่มุมในเชิงบวก และให้ความสนใจในเชิงสงบสุข ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้สะดวกและเข้าใจง่าย และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องอย่างชัดเจนในการนี้ เพื่อเป็น สิริมงคลแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานให้มีความโปร่งใส ขออัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งในองค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ได้แก่ ผู้ที่มีความสุจริต และบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ
4. หลักการมีส่วนร่วม (Participation)
          หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง การให้โอกาสให้บุคลากรหรือผู้มี ส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการ บริหารจัดการเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น เป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และหรือ คณะทำงานโดยให้ข้อมูล ความคิดเห็น แนะนำ ปรึกษา ร่วมวางแผนและร่วมปฏิบัติ
5. หลักความรับผิดชอบ (Responsibility )
          หลักความรับผิดชอบ หมายถึง การตระหนักในสิทธิและหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาการบริหารจัดการ การกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา และเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งความกล้าที่จะยอมรับผลดีและผลเสียจากกระทำของตนเอง
6. หลักความคุ้มค่า
 (Cost – effectiveness or Economy) 
         หลักความคุ้มค่า หมายถึง การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้บุคลากรมีความประหยัด ใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างคุ้มค่า และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

 

รูปภาพ                                                           รูป     หลักการสำคัญของธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาล กับ การบริหารแนวใหม่
           ธรรมาภิบาลจัดเป็นแนวคิดสำคัญในการบริหารงานและการปกครองในปัจจุบัน เพราะโลกปัจจุบันได้หันไปให้ความสนใจกับเรื่องของโลกาภิวัตน์และธรรมาภิบาลหรือการบริหารจัดการที่ดี มากขึ้น แทนการสนใจเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมดังแต่ก่อน เพราะกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจมีความสำคัญกระทบถึงกัน การติดต่อสื่อสาร การดำเนินกิจกรรมในที่หนึ่งมีผลกระทบต่ออีกที่หนึ่ง การพัฒนาเรื่องของการเมืองการปกครองได้มุ่งให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น หากจะให้ประเทศมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน การมุ่งดำเนินธุรกิจ หรือปฏิบัติราชการต่างๆโดยไม่ให้ความสนใจถึงเรื่องของสังคม ประชาชน และสิ่งแวดล้อมจึงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป การมีการบริหารจัดการที่ดีจึงเข้ามาเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและเริ่มมีการนำไปปฏิบัติกันมากขึ้น
          ธรรมาภิบาลหรือการบริหารจัดการที่ดี เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะข้าราชการ และพนักงานบริษัทเอกชนเพราะธรรมาภิบาลเป็นการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตั้งมั่นอยู่บนหลักการบริหารงานที่เที่ยงธรรม สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีจิตสำนึกในการทำงาน มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำ พร้อมตอบคำถามหรือตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและพร้อมรับผิด มีศีลธรรม จริยธรรมในการทำงาน การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการรับรู้ ตัดสินใจ ดำเนินการและประเมินผล ตลอดจนร่วมรับผลจากการตัดสินใจร่วมนั้น มีการส่งเสริมสถานภาพหญิงชาย และการให้ความสำคัญกับกลุ่มต่างๆ รวมทั้งคนด้อยโอกาส ตลอดจนการ สร้างความเท่าเทียมกันทางสังคมในการรับโอกาสต่างๆที่ประชาชนพึงจะได้รับจากรัฐอีกด้วย ธรรมาภิบาลเป็นทั้งหลักการ กระบวนการและเป็นเป้าหมายไปในตัว การมีธรรมาภิบาลอาจนำมาสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ในที่สุดและการมีประชาธิปไตยก็นำมาสู่การมีผลทางสังคมคือการมีการพัฒนาประเทศไปในทางที่สร้างความสงบสุขอย่างต่อเนื่องและสถาพร ตลอดจนนำมาสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้โดยสันติวิธี

เอกสารอ้างอิง

ถวิลวดี บุรีกุล. http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/ธรรมาภิบาล:_หลักการเพื่อการบริหารรัฐกิจแนวใหม่
ชูศักดิ์ ประเสริฐ.  http://www.chusak.net/index.php?mo=3&art=42092684

การประกันคุณภาพการศึกษา : Benchmarking

การประกันคุณภาพการศึกษา  :   Benchmarking

               การประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นการสร้างความมั่นใจ (assure) ว่า สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่หลักสูตรกำหนดและที่สังคมต้องการ  

             สถานศึกษาจึงต้องมีกระบวนการดำเนินการที่สัมพันธ์กัน  ๓  ประการ  ได้แก่  การพัฒนาคุณภาพ เป็นการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้บรรลุถึงมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้ การติดตามตรวจสอบคุณภาพ เป็นการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน กำกับ ติดตามความก้าวหน้า และยืนยันการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุตามมาตรฐานที่กำหนดและการประเมินและรับรองคุณภาพ เป็นการดำเนินงานเพื่อตรวจสอบผลการจัดการศึกษา

             ดังนั้น Benchmarking จึงเป็นการเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีจากสถานศึกษาอื่น เพื่อนำผลจากการเรียนรู้นั้น มาปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา

Benchmarking  เป็นกระบวนการวัดและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์บริการและวิธีปฏิบัติกับองค์กรที่สามารถทําได้ดีกว่า เพื่อนําผลของการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเองเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ  จากความหมายนี้สรุปได้ว่าการทํา Benchmarking ประกอบด้วย ๒ ส่วน ได้แก่ 
       ๑. การเปรียบเทียบวัด(Benchmark) ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีการกําหนดตัววัด หรือที่เรียกว่า Key Performance Indicator (KPIs) ว่าจะเปรียบเทียบกับใคร ในเรื่องใด
       ๒. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการปฏิบัติที่ดี/เป็นเลิศ (Best Practices) จากผู้ที่ทําได้ดีกว่า โดยเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากการเปรียบเทียบวัด ให้รู้ถึงผู้ที่ทําได้ดีกว่าและเขาไปเรียนรู้วิธีการปฏิบัติซึ่งทําให้ประสบความสําเร็จ หรือมีค่า Benchmark สูง เพื่อนํามาใช้ปรับปรุงองค์กรของตนเอง

ประโยชน์ของการทํา Benchmarking     

       ๑. เพื่อความยั่งยืนขององค์กร : สภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น การที่องค์กรจะยั่งยืนจําเป็นต้องรักษาและยกระดับความสามารถของตนเองเพื่อให้แข่งขันได้จึงต้องมีการเรียนรู้และปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง

        ๒. เพื่อการปรับปรุงอย่างก้าวกระโดด : ความเร็วในการปรับปรุงตนเองเป็นเงื่อนไขสําคัญของความได้เปรียบในการแข่งขัน Benchmarking เป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นนวัตกรรม (Innovation) ในองค์กร ซึ่งทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงปรับปรุงในระยะเวลาอันสั้นเนื่องจากเป็นการเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดจากภายนอกองค์กร ทําให้สามารถ “เรียนลัด” เพื่อก้าวให้ทันองค์์กรอื่นๆ จึงเป็นการเรียนรู้ปรับปรุงแบบก้าวกระโดด

        ๓. เพื่อสนับสนุนรางวัลคุณภาพแห่งชาติ  : รางวัลเป็นแรงจูงใจให้เกิดการปรับปรุงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายประเทศ ริเริ่มให้มีรางวัลด้านการจัดการเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพด้านการจัดการ เช่น Malcolm Baldrige National Quality Award ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ Thailand Quality Award ของประเทศไทย เป็นต้น

ประเภทการทํา Benchmarking

๑. ตามวัตถุประสงคการทํา/สิ่งที่ทํา Benchmarking แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่ 
                 ๑) Strategy Benchmarking เป็นการทํา Benchmarking เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการวางกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ ขององค์กรที่ประสบความสําเร็จ เช่น ความสําเร็จของ Dell Computer ที่เปลี่ยนกลยุทธ์จากMass Production มาเป็นแบบ Customization ที่ผู้ซื้อ เลือกแบบสินค้าเองได้ เนื่องจากการทํา Strategy Benchmarking
                ๒) Process Benchmarking เป็นการเปรียบเทียบกระบวนการทํางานขององค์กรตนเองกับ
องค์กรอื่น โดยเน้นการเรียนรู้ Best Practices เพื่อนํามาใช้ปรับปรุงองค์กร การทํา Benchmarking ประเภทนี้ เป็นที่นิยมอย่าง
กว้างขวางเนื่องจากก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมใหม่ ๆ 
               ๓) Product Benchmarking โดยเปรียบเทียบความพึงพอใจของลูกค่าที่มีต่อคุณลักษณะของสินค้า เช่น การออกแบบ ความคงทน การใช้งาน รูปแบบการให้บริการ เป็นต้น และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างตนเอง กับองค์กรที่เราทํา Benchmarking ด้วย 
               ๔) Performance Benchmarking เป็นการเทียบเคียงเฉพาะผลการปฏิบัติงาน เช่น การเปรียบเทียบยอดขายจํานวนผลิตภัณฑ์  เป็นต้น เพื่อดูความสามารถในการปฏิบัติงาน

๒. ตามผู้ที่เราไปทํา Benchmarking ด้วย แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่

             ๑) Internal Benchmarking เป็นการทํา Benchmarking ระหว่างบริษัทในเครือ หรือระหว่างหน่วยงานต่างๆในองค์กรเดียวกัน โดยมีการเปรียบเทียบวัดและเรียนรู้ Best Practices ระหว่างกัน การทําในลักษณะนี้ส่วนใหญ่นําไปสู่การสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Work Standard) ขององค์กรและกลุ่มภายในองค์กร ข้อจํากัดของการทํา คือเป็นการเรียนรู็ในวงแคบ ไม่มีการเรียนรู้วิธีการปฏิบัติใหม่ๆมากเท่าที่ควร

           ๒) Competitive Benchmarking เป็นการทํา Benchmarking กับคู่แข่งโดยตรง บางครั้งการทําในลักษณะนี้จะมุ่งหวังในเชิงการแข่งขัน เพื่อให้ทราบว่าคนอื่นเป็นอย่างไร มากกว่าที่จะค้นหา Best Practices ที่จะสามารถเรียนรู้ได้จริงๆ ซึ่งการทําในลักษณะนี้มักมีข้อจํากัด คือ เก็บข้อมูลยาก ต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย หรือต้องใช้บุคคลที่สามเข้ามารวบรวมข้อมูล  
        ๓) Industry Benchmarking เป็นการทำ Benchmarking ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง เช่น อุตสาหกรรมผลิตปลากระป๋องทำ Benchmarking อุตสาหกรรมผลิตผักผลไม้กระป๋อง เป็นต้น
       ๔) Generic Benchmarking เป็นการทำ Benchmarking กับองค์กรใดๆก็ได้  ที่มี Best Practices ในกระบวนการที่เราต้องการปรับปรุง ซึ่งองค์กรนั้นอาจมีธุรกิจที่แตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิง การทำในลักษณะนี้ ก่อให้้เกิดความรู้และมุมมองใหม่   ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ดีที่สุด 

                                             

 

                                                                    รูปภาพ

กระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

               การศึกษา เป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ  
การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม  สังคม  การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้ตลอดชีวิต (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๔๕)
             ดังนั้น กระบวนการสร้างความเจริญงอกงามของคนและสังคมหรือกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ควรมีรูปแบบ หลักการหรือวิธีการที่สำคัญ  ดังนี้
               ประการแรก การอ่าน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นวิธีการอ่านที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ผู้อ่านต้องคำนึงถึงจุดประสงค์ของการอ่านในแต่ละครั้ง เช่น การอ่านเพื่อ ความบันเทิง (การหนังสือพิมพ์ อ่านนิยาย) เป็นการอ่านผ่านๆ สบายๆ อ่านเพียงเพื่อให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และจบอย่างไร   ส่วนการเรื่องใหม่ เรื่องสำคัญ หรือเรื่องที่ยาก ผู้อ่านต้องอ่านอย่างตั้งใจ เริ่มด้วยการอ่าน บทนำ สารบัญคราวๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมของหนังสือ จากนั้นอ่านย่อหน้าแรกและย่อหน้าสุดท้ายของแต่ละตอน เพื่อช่วยให้ทราบใจความหลัก ดูช่วงเวลาที่หนังสือตีพิมพ์ จะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์และมุมมองของผู้เขียน จดบันทึกจุดที่สำคัญไว้ ตามความเข้าใจของตนเองเพื่อการค้นหาภายหลัง และสุดท้ายในขณะที่อ่าน ผู้อ่านต้องตั้งคำถามไปด้วย ว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไร  เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อมูลที่อ่าน และข้อมูลนี้นำไปใช้ หรือเกี่ยวข้องกับประสบการณ์อย่างไร
             ประการที่สอง การบันทึกการอ่านการวิจัย เป็นการแสดงเนื้อหาจากเรื่องที่อ่านออกมาในรูปแบบของเอกสาร  โดยสิ่งที่บันทึกเป็นการสะท้อนความคิดจากเรื่องที่อ่าน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การตั้งคำถามในการอ่านจะช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและบันทึกเรื่องที่อ่านได้ตรงประเด็น และการบันทึกควรใช้คำพูดหรือภาษาตามความเข้าใจจากการอ่านของตนเอง  รูปแบบของการบันทึก ควรจัดทำในกระดาษเอสี่ (แบบบัตรรายการ)  บันทึกบรรณานุกรมอย่างละเอียดและสมบูรณ์ เพื่อนำมาใช้ภายหลังอีก  เว้นขอบหรือที่ว่างเพื่อแสงความคิดเห็นและการเน้นข้อความ  บันทึกชื่อ บทและเลขหน้า เพื่อแสดงความคืบหน้าของการบันทึก การอ้างอิง ต้องถูกต้องและแม่นยำ  จัดระเบียบของการบันทึกตามชื่อและหัวเรื่องอย่างมีระบบตามลำดับตัวอักษรหรือทำเครื่องหมายชัดเจน  และที่สำคัญการบันทึกต้องเป็นไปตามวัตถุจากหนังสือ หรือบทความ มาเป็นข้อสรุปหลักการสำคัญ
            ประการที่สาม การจดบันทึกคำบรรยาย จะช่วยให้ผู้บันทึก มีกรอบแนวคิด สามารถนำความรู้ มาทบทวนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนำแนวคิด มาบูรณาการในการฟังคำบรรยายแต่ละครั้ง  การจดบันทึก เป็นการสะท้อนแนวคิดของผู้
จดบันทึก ที่มีต่อเนื้อหาของการบรรยายหรือเอกสารซึ่งผู้จดบันทึก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้   เทคนิคการจัดบันทึกการบรรยาย อันดับแรก การอ่านเนื้อหาคร่าวๆ ก่อนฟังบรรยาย จะทำให้ผู้บันทึกสามารถเลือกบันทึกส่วนที่เป็นประเด็นที่สำคัญ   จดชื่อหัวข้อ วิชา ผู้บรรยาย วันที่ ทุกหน้าที่บันทึก  เขียนกระดาษหน้าเดียว ไม่เขียนหน้าหลัง  ใช้อักษรย่อในการบันทึก โดยใช้ให้เหมือนกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน   เขียนเป็นวลี  แทนการเขียนเป็นประโยคและไม่ควรบันทึกทุกคำพูด เพราะจะทำให้พลาดประเด็นถัดไป   และสุดท้ายทบทวนบันทึกและเน้นข้อความหรือขีดเส้นใต้ประเด็นสำคัญ เพราะจะเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของข้อมูล
            ประการที่สี่ การเรียนรู้ด้วยตนเอง  จะเห็นได้ว่าข้อเขียนตั้งแต่เริ่มแรกจากการอ่าน  การบันทึก
การอ่านและการจดบันทึกการบรรยาย  เป็นเรื่องที่ผู้เรียนต้องกระทำด้วยตนเอง เรียนรู้ด้วยตนเอง  ดังนั้นจึงขอเสนอวิธีการในการเรียนรู้ด้วยตนเอง  เพื่อเป็นตัวช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล  หลักการของการเรียนรู้ด้วยตนเอง คือ การวางแผนตารางเวลาการเรียนรู้ เพื่อเป็นการเตือนความจำด้วยปฏิทินหรือไดอารี่  ลำดับความสำคัญของการเรียนรู้   การกำหนดการส่งงาน การวางแผนวันที่ต้องไปส่งงาน การเขียนรายละเอียดของงานแต่ละชิ้น    การทำงานกลุ่ม   การจัดกลุ่มเรียนรู้ ทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การแบ่งบันความรู้ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์  
           ประการที่ห้า  การบริหารเวลา  กระบวนการเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น การบริหารจัดการเวลา มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูง  ดังนั้นการบริหารเวลาเพียงแค่การสร้างตารางการทำงาน หรือการบันทึกกำหนดการต่างๆ ลงในสมุดบันทึกประจำวันเท่านั้น  เทคนิคการบริหารเวลา อันดับแรกคือ  การกำหนดเป้าหมาย ทำรายการที่คาดหวังว่าต้องทำให้สำเร็จในแต่ละสัปดาห์  การจัดลำดับความสำคัญของงาน และทำเครื่องหมายไว้เมื่อทำสิ่งนั้นสิ้นสุดแล้ว ระบุภารกิจหลัก (การเข้าเรียน การทำงาน การเดินทาง)  ภารกิจสำคัญและจำเป็นสำหรับตนเอง (การทำงานบ้าน การเล่นกีฬา) การแบ่งเวลาอย่างสมดุลระหว่างเวลาเรียน และเวลาสำหรับความจำเป็นอื่นๆ รวมทั้ง  เวลานอน  ออกกำลังกายและการเข้าสังคม การจัดระบบการเก็บข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อไม่เสียเวลาในการค้นหา แบ่งเวลาว่างเป็นรางวัลให้กับตนเองใช้เวลาแฝง เช่นในขณะอาบน้ำ
ก็คิดหัวเรื่องหรือประเด็นในการทำงานไปด้วย  เป็นต้น
             รูปแบบการรู้เรียนที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล  ทั้งห้ารูปแบบสามารถนำไปประยุกต์ใช้และบูรณาการการจัดการในการทำงานและในการดำเนินชีวิตของผู้ที่สนใจ

 

 

การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) ตอนที่ 4/4

5.การควบคุมกลยุทธ์ (Strategic Control)        

            การควบคุมกลยุทธ์ เป็นกระบวนการติดตามกิจกรรมและผู้ปฏิบัติงานขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินกิจกรรมนั้นๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใด เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขและปรับปรุงผลการปฏิบัติงานของผู้ปฎิบัติงานในองค์กร

         วรางคณา ผลประเสริฐ (2550 ) ได้กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการควบคุมกลยุทธ์ คือ

1.       เพื่อติดตามว่ามีการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้หรือไม่

2.       เพื่อประเมินความเหมาะสมของกลยุทธ์ที่วางไว้ และประเมินความสอดคล้องกับโครงสร้างขององค์กร

3.       เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่สำคัญและสัมพันธ์กับกิจกรรม

4.       เพื่อทราบผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น บรรลุผลตามที่กำหนดไว้หรือไม่ มีความแตกต่างไปจากแผนเดิมมากน้อยเพียงใด สาเหตุของความแตกต่างคืออะไร

 5.     เพื่อให้สามารถจัดรางวัลหรือผลตอบแทนให้เหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติงาน ที่สามารถปฏิบัติได้ตามแผนกลยุทธ์นั้นอย่างเหมาะสม

          กระบวนการควบคุมกลยุทธ์  เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการบริหารเชิงกลยุทธ์ ณัฏฐพันธ์  เขจรนันทน์ (2552) ได้เสนอ กระบวนการตวบคุมกลยุทธ์  4 ขั้นตอน  ได้แก่

          ขั้นตอนที่ 1  กำหนดเกณฑ์และมาตรฐาน   การที่ผู้บริหารสามารถตรวจสอบและประเมินความสำเร็จของกลยุทธ์องค์กรได้ จะต้องมีวิธีการและมาตรวัดการดำเนินงานกลยุทธ์ ว่าเป็นไปในทิศทาง และมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ โดยใช้ทรัพยากรการดำเนินงานตามที่กำหนด  โดยมาตรฐานการดำเนินงานจะเป็นระดับของการดำเนินงานที่ต้องการจากผู้ปฏิบัติ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวัด ว่าการดำเนินงานได้ผลลัพท์ตามที่กำหนด มาตรฐานจะมีความแตกต่างกันระหว่างหน้าที่งานแต่ละชนิดและประเภทขององค์กร

          ขั้นตอน 2  การวัดผลการดำเนินงาน เป็นการวัดผลการดำเนินงาน ตามขั้นตอนที่ 1 การผลวัดตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการปฏิบัติงานแต่ละงาน โดยใช้สารสนเทศจากแหล่งต่างๆ  เช่นข้อมูลงบการเงิน ข้อมูลด้านการให้บริการ ข้อมูลความพึงพอใจ เป็นต้น

          ขั้นตอนที่ 3 การเปรียบเทียบและประเมินผล เป็นการนำผลลัพท์จากการวัดผลการดำเนินงาน มาเปรียบเทียบกับเป้าหมายและมาตรฐานที่กำหนดที่องค์กรกำหนดไว้   ว่าตรงตามเป้าหมายหรือไม่ ในกรณีแตกต่าง อาจหาวิธีแก้ไขปรับปรุง ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ปรับกระบวนการทำงาน ปรับโครงสร้างองค์กร หรือปรับคณะผู้บริหารองค์กร

          ขั้นตอนที่4  การดำเนินการแก้ไข  ผู้ควบคุมกลยุทธ์ จะทำการศึกษาวิเคราะห์สาเหตุของความแตกต่างระหว่างผลการดำเนินงานกับเป้าหมายและมาตรฐานของการดำเนินงาน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไข หรือปรับปรุงการดำเนินงานให้ได้ตามมาตรฐานและสามารถบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

                                 ภาพที่3   ความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมกลยุทธ์กับกระบวนการวางแผนกลยุทธ์

 

                   สรุปการควบคุมกลยุทธ์ เป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนในการวางแผนกลยุทธ์ ดังนั้นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบต้องเข้าใจ ไม่เช่นนั้นการควบคุมจะไม่เป็นประโยชน์กับกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ และอาจก่อให้เกิดผลเสีย ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่องค์กร

 

การประกันคุณภาพการศึกษา : การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษาการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

            การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา เป็นขั้นตอนของการประกันคุณภาพภายในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา  มุ่งเน้นในเรื่องของผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประจำปี และมีบทบาทเพื่อการปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งในการดำเนินการนั้น สถานศึกษาต้องทำการติดตาม ตรวจสอบผลการดำเนินตามแผนปฏิบัติประจำปีที่สถานศึกษาได้กำหนด เพื่อนำผลจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และประสิทธิผลของระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา  

วัตถุประสงค์ของการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

             การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา มีวัตถุประสงค์  1) เพื่อให้สถานศึกษาสามารถติดตามรวบรวมข้อมูลความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และการปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง 2) เพื่อรวบรวมและจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ และนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด 3) เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา และเป็นที่ยอมรับ เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง  และ 4) เพื่อเตรียมพร้อมรับการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองรับการประเมินภายนอก
องค์ประกอบของการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

           การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาเป็นกระบวนการที่สถานศึกษาต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง     การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวง ฯ เป็นการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งในการตรวจสอบคุณภาพการศึกษา มี 2 ระดับ ได้แก่

      1.การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา  สามารถนำแนวคิดเชิงระบบมาใช้ในการติดตามคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีองค์ประกอบของการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาในเชิงระบบ ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ปัจจัย กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์ สามารถสรุปประเด็นสำคัญของการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา เป็น 7 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและงบประมาณ ด้านการบริหารจัดการ ด้านกระบวนการเรียนรู้ ด้านการประกันคุณภาพ ด้านผู้เรียน และด้านโรงเรียน

    2.การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาระดับสถานศึกษา   เป็นการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนั้นขอบข่ายและประเด็นการตรวจสอบจึงประกอบด้วยการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการประจำปี การดำเนินงานตามโครงการ/กิจกรรมที่กำหนดไว้ได้ตามแผนหรือไม่ มีการปรับแผนหรือไม่ มีเพราะเหตุใด มีการสรุปผลการดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ การติดตามตรวจสอบมีการให้ข้อสังเกต ให้ข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการต่อไป

ขั้นตอนและกระบวนการการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

       การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา เป็นกระบวนการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้าน  ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต/ผลลัพธ์ เพื่อให้การบริหารจัดการคุณภาพมีประสิทธิภาพจะใช้วงจรเดมมิ่ง ( PDCA) เป็นเครื่องมือติดตามตรวจสอบคุณภาพซึ่งประกอบด้วย

  1. การวางแผนติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา  มีการกำหนดขั้นตอนการทำงานเป็นกระบวนการมาตรฐานแต่ละขั้นตอนมีวิธีการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและการบันทึกการทำงานทุกขั้นตอนเป็นปัจจุบันการดำเนินการตามแผนการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าทั้งด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต/ผลลัพธ์
  2. การดำเนินการตามแผนการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าทั้งด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต/ผลลัพธ์
  3. การรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา 
  4. การพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นการเสนอแนะมาตรการเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นการแก้ไขพัฒนาระบบ

แนวทางการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

             การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาเป็นการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่โรงเรียนจัดทำขึ้น มีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

             รูปแบบที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง

             รูปแบบที่ 2 ผู้ปฏิบัติงานรายงานการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีเป็นระยะตามที่สถานศึกษากำหนด

             รูปแบบที่ 3 คณะกรรมการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีเป็นระยะตามที่สถานศึกษากำหนด

สรุปและรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

            การสรุปและรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา เป็น การสรุปผลการดำเนินงานร่วมกันของคณะผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบริหารงบประมาณ  การรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา เป็นการเสนอผลการตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนา

 

 

                                              

 

   เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.(2554). การติดตามตรวจสอยคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์  
               การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.(2555).แนวคิดและแนวทางการพัฒนาผู้ติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ระดับการ
              ศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.(2554). แนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์
             การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

 

การประกันคุณภาพการศึกษา : STEM Education

    การประกันคุณภาพการศึกษา : STEM  Education       

             ในยุคปัจจุบัน  ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายจากกระแสโลก โดยปัจจัยสำคัญที่จะเผชิญการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายดังกล่าว คือคุณภาพของคน 
            การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง  โดยจะต้องเป็นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ทำให้เป็นคนที่รู้จักคิดวิเคราะห์  รู้จักแก้ปัญหา  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคุณธรรม จริยธรรม รู้จักพึ่งตนเองและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข  

             รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ  STEM  Education จึงน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการเรียนรู้เพื่อเป็นการประกันคุณภาพผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนา  ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด
รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEM Education 

              STEM  Education เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชา ได้แก่วิชา  
                        วิชาวิทยาศาสตร์   (Science: S)  
                        วิชาเทคโนโลยี      (Technology: T) 
                        วิชาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineer: E) 
                        วิชาคณิตศาสตร์ (Mathematics: M) 
             รูปแบบการจัดการเรียนรู้  STEM  Education ได้นำจุดเด่นของธรรมชาติ ตลอดจนวิธีการจัดการเรียนรู้ ของแต่ละสาขาวิชา  มาผสมผสานกันอย่างลงตัว เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ทุกศาสตร์ มาใช้ในการแก้ปัญหา การค้นคว้า และการพัฒนาสิ่งต่างๆ ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งอาศัยการจัดการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนหลายสาขา วิชา  ร่วมมือกัน เพราะในการทำงานจริงหรือในชีวิตประจำวันนั้นต้องใช้ความ รู้หลายด้านในการทำงานทั้งสิ้นไม่ได้แยกใช้ความรู้เป็นส่วนๆ นอกจากนี้  STEM Education ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนา ทักษะสำคัญในโลกยุคโลกาภิวัตน์หรือทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อีกด้วย  ทั้งนี้ STEM Education เป็นการจัดการศึกษาที่มีแนวคิด   ดังนี้  
              1. เป็นการบูรณาการข้ามสาระ วิชา (Interdisciplinary Integration) นั่นคือเป็นการบูรณาการ ระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (S) เทคโนโลยี (T) วิศวกรรมศาสตร์ (E) และ คณิตศาสตร์ (M) ทั้งนี้ได้นำจุด เด่นของธรรมชาติตลอดจนวิธีการสอนของแต่ละสาขาวิชามา ผสมผสานกันอย่างลงตัว กล่าวคือ
              • วิทยาศาสตร์ (S)  เน้นเกี่ยวกับความเข้าใจใน ธรรมชาติ โดยนักการศึกษามักชี้แนะให้อาจารย์ ครูผู้สอนใช้ วิธีการสอนวิทยาศาสตร์ด้วยกระบวนการสืบเสาะ (Inquiry-based Science Teaching) กิจกรรมการสอนแบบแก้ปัญหา (Scientific Problem-based Activities) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ เหมาะกับผู้เรียนระดับประถมศึกษา แต่ไม่เหมาะกับผู้เรียน ระดับมัธยมศึกษา หรือมหาวิทยาลัย เพราะทำให้ผู้เรียนเบื่อ หน่ายและไม่สนใจ แต่การสอนวิทยาศาสตร์ใน STEM Education จะทำให้นักเรียนสนใจ มีความกระตือรือร้น รู้สึก 
ท้าทายและเกิดความมั่นใจในการเรียน ส่งผลให้ผู้เรียนสนใจที่ จะเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นที่สูงขึ้นและประสบ ความสำเร็จในการเรียน 
              • เทคโนโลยี (T) เป็นวิชาที่เกี่ยวกับกระบวนการ แก้ปัญหา ปรับปรุง พัฒนาสิ่งต่างๆ หรือกระบวนการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนเรา โดยผ่านกระบวนการทำงานทางเทคโนโลยี ที่เรียกว่า Engineering Design หรือ Design Process ซึ่งคล้ายกับกระบวนการสืบเสาะ ดังนั้น เทคโนโลยีจึงมิได้หมายถึงคอมพิวเตอร์หรือ ICT ตามที่คนส่วน ใหญ่เข้าใจ 
             • วิศวกรรมศาสตร์ (E) เป็นวิชาที่ว่าด้วยการคิด สร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้กับนิสิตนักศึกษาโดยใช้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งคน ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นวิชาที่สามารถเรียนได้ แต่จากการ ศึกษาวิจัยพบว่าแม้แต่เด็กอนุบาลก็สามารถเรียนได้ดีเช่นกัน  
                    • คณิตศาสตร์ (M) เป็นวิชาที่มิได้หมายถึงการนับ จำนวนเท่านั้น แต่เกี่ยวกับองค์ประกอบอื่นที่สำคัญ 
ประการ แรก คือกระบวนการคิดคณิตศาสตร์ (Mathematical Thinking) ซึ่งได้แก่การเปรียบเทียบ การจำแนก/ จัดกลุ่ม การจัดแบบรูป และการบอกรูปร่างและคุณสมบัติ  ประการที่สอง ภาษาคณิตศาสตร์ เด็กจะสามารถถ่ายทอดความคิดหรือ ความเข้าใจความคิดรวบยอด (Concept) ทางคณิตศาสตร์ได้ โดยใช้ภาษาคณิตศาสตร์ในการสื่อสาร เช่น มากกว่า น้อยกว่า เล็กกว่า ใหญ่กว่า ฯลฯ ประการต่อมาคือการส่งเสริมการคิด คณิตศาสตร์ขั้นสูง (Higher-Level Math Thinking) จาก กิจกรรมการเล่นของเด็กหรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
            2. เป็นการบูรณาการที่สามารถจัดการเรียนรู้ได้ในทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนปลาย โดยครูผู้สอนใช้วิธีการสอนแบบ Project-based Learning, Problem-based Learning, Design-based Learning   ทำให้ ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์ พัฒนาชิ้นงานได้ดี                
            รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEM Education นอกจากจะเป็นการบูรณาการ วิชาทั้ง 4 สาขาดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว  ยังเป็นการบูรณาการ ด้านบริบท (Context Integration) ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การสอนนั้นมีความหมายต่อผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของการเรียนนั้นๆ และสามารถนำไป ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการทำงาน การเพิ่มมูลค่า และสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ ด้านเศรษฐกิจได้

           3. เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ ทำให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาคนให้มี คุณภาพในศตวรรษที่ 21 เช่น

              • ด้านปัญญา ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาวิชา

              • ด้านทักษะการคิด ผู้เรียนพัฒนาทักษะการคิด โดยเฉพาะการคิดขั้นสูง เช่น การคิดวิเคราะห์ 
คิดสร้างสรรค์ ฯลฯ

              • ด้านคุณลักษณะ ผู้เรียนมีทักษะการทำงานกลุ่มทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การเป็นผู้นำตลอดจนการน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของ
ผู้อื่น        

บทสรุป
                การเตรียมผู้เรียนในวันนี้ ให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21  มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เยาวชนสามารถดำรงชีวิตในสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้  สามารถและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสภาพสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคต  การตื่นตัวและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  การประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้ได้ประชากรที่มีคุณภาพ จึง เป็นกลยุทธ์ของการพัฒนาชาติแนวทางหนึ่ง สำหรับ  การจัดการศึกษารูปแบบบูรณาการที่เน้นให้ความ สำคัญกับวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และ คณิตศาสตร์อย่างเท่าเทียมกัน หรือเรียกว่า  STEM Education จึง เป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อการเตรียมเด็กไทย รุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21

                                                     

กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy : BOS)

กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy : BOS)    
       ปราณี ตันประยูร (2553)กล่าวว่า กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy : BOS)  พัฒนาโดย W.Chan Kimจาก สถาบัน INSEAD ที่มาของแนวคิดนี้ คือจากสถานะการณ์การแข่งขันในปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นการเอาชนะคู่แข่งเพื่อชิงส่วนครองตลาดหรือความได้เปรียบจากคู่แข่งซึ่งมักจะลงเอยด้วยการมีสินค้าหรือบริการที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกันจะหาความแตกต่างไม่ได้และกลยุทธ์สุดท้ายที่นำมาใช้ก็คือ ราคา ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เจ็บตัวกันทุกฝ่ายดังที่เรียกกันว่ากลยุทธ์ทะเลสีเลือด (Red Ocean) เพราะต่อสู้กันจนนองเลือด 
ดังนั้น กลยุทธ์ใหม่ที่นำมาใช้คือการแสวงหาทะเลแห่งใหม่ที่สดใสเปรียบได้กับท้องทะเลสีคราม หลักการสำคัญของ BOS คือ 1) ไม่มุ่งการแข่งขัน  2) ไม่มุ่งเอาชนะคู่แข่งแต่มุ่งทำให้คู่แข่งล้าสมัย 3) มุ่งสร้างความต้องการใหม่ (New Demand Creation) ที่ไม่เคยมีมาก่อน และ 4)พยายามหากลุ่มลูกค้าใหม่  จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ BOS เน้นคือการสร้างคุณค่าใหม่ (Value Innovation) 
          แนวทางสู่ BOS  ประกอบด้วย 6 เส้นทาง ดังนี้  
          1. การมองข้ามกรอบของอุตสาหกรรม 
           2. การมองข้ามกลุ่มกลยุทธ์ 
           3. การมองข้ามกลุ่มผู้ซื้อ 
           4. การมองออกนอกขอบข่ายของสินค้าและบริการ 
           5. การมองข้ามออกไปเน้นด้านอารมณ์ 
           6. การมองข้ามกาลเวลา

ตัวอย่างเช่น –  การบินไทยจัดบริการสายการบินต้นทุนต่ำโดยนกแอร์ 
               –  เครือซีเมนต์ไทยวางตำแหน่งให้กระเบื้องCOTTOเป็นสินค้าแฟชั่นและสร้างคุณค่าทางด้านอารมณ์ 
               –   i-Mobile ของ SAMART 
               –   iPod และ I-tune Music Store 
    สถาบันการศึกษาหลายแห่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังอยู่ในทะเลสีเลือด ก็คงต้องมองหาทางออกไปสู่น่านน้ำสีคราม เช่น หลักสูตรใหม่ ๆ การเป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาอื่น การดึงผู้ประกอบการที่ยังขาดคุณวุฒิมาเป็นกลุ่มเป้าหมาย การบริการอื่น ๆ นอกจากการสอน ฯลฯ  อย่างไรก็ตาม ปัญหาของน่านน้ำสีครามคือไม่มีองค์กรใดที่สามารถรักษาฐานที่มั่นได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเวลาผ่านไปน่านน้ำสีครามย่อมถูกแปรเปลี่ยนเป็นท้องทะเลสีแดง ณ เวลานั้น คงต้องหาทะเลแห่งใหม่ที่มั่นคง ยั่งยืน เป็นท้องทะเลที่เงิน/กำไรไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เป็นท้องทะเลที่มีความเอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ต่อมนุษย์โลก ถึงเวลานั้นคงต้องหาทะเลสีขาว White Ocean ให้พบ  ……………..

กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (White Ocean Strategy)

กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (White Ocean Strategy

          กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว(White Ocean Strategy) เป็นพื้นฐานในการบริหารงานและใช้ชีวิตที่ตั้งมั่นอยู่บนคุณงามความดีมีศีลธรรมและปรับมุมมองจากการตักตวงผลประโยชน์จากสังคมมาเป็นการช่วยเหลือแบ่งปันและเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม  โดยไม่วาง“ตัวเอง”เป็นศูนย์กลางและไม่เห็น
ผลกำไร”
เป็นสิ่งสำคัญ  สูงสุดจนละเลยมิติด้านอื่นจึงทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนความสมดุลย์ของ  People  (สังคมประชาชนและกลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วน)   Planet   (ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทั้งกายภาพและจิตภาพ)   Profit    (กำไรที่เหมาะสมและแบ่งปันกับส่วนรวม)  โดยมี Passion ความมุ่งมั่นศรัทธาในการทำงานขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
         ดนัย   จันทร์เจ้าฉาย     ผู้เขียนหนังสือ White Ocean Strategy  กล่าวว่า  “กลยุทธ์น่านน้ำสีขาวคือทางสายกลางที่เป็นทางออกของวิกฤติด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองจากความล่มสลายของทางสุดโต่งสองสายทั้งระบบสังคมนิยมที่ขาดแรงกระตุ้นให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพเนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจสู่ความล่มสลายของระบบทุนนิยม (Pure Capitalism) ที่มุ่งเน้นสร้างผลกำไรและปั่นตัวเลขบนความโลภและการปลูกฝังผิดๆให้สร้างความมั่งคั่งสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นจนขาดศีลธรรมและสติส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกWhite Ocean Strategy คือทางสายกลางที่อยู่บนความลงตัวความพอดีก่อให้เกิดความสมดุลทั้งภายในและภายนอกสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็น Sustainable Capitalism และ Sustainable Development
        “การทำธุรกิจไม่ว่าจะอยู่บนน่านน้ำสีใดก็ตามทั้งสีเลือดหรือสีครามแต่องค์กรที่ยืนหยัดอยู่บนน่านน้ำ
สีขาวจะสามารถขยายคลื่นแห่งคุณงามความดีให้แผ่ไพศาลไปทั่วสังคมจึงทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งต่อองค์กรและส่วนรวมโดยหลักการของน่านน้ำสีขาวมีอยู่ด้วยกัน   7  ประการได้แก่
         1. การเกิดขึ้นและมีอยู่ขององค์กรเป็นไปเพื่อสร้างผลเชิงบวกต่อสังคมโดยรวม (Net Positive Impact on Society)
         2. ตั้งเป้าหมายระยะยาวและมองภาพใหญ่ระดับมหภาค (Long-term Goal, Macro View)
         3. แสวงหาจุดสมดุลระหว่างPeople, Planet, Profit โดยมีPassion เป็นพลังขับเคลื่อน
         4. ยืนบนหลักการของโลกอันอุดมสมบูรณ์ (The World of Abundance)
         5. ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมความเป็นจริงและความเป็นเนื้อแท้ (Integrity)
         6. เป็นองค์กรที่ระเบิดจากข้างในและมีดีเอ็นเอของIndividual Social Responsibility (ISR)
         7. เป็นผู้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการ (Set the Benchmark)

 

การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) ตอนที่ 3/4

2. การกำหนดทิศทางขององค์กร (Set Organization Direction)                            

การกำหนดทิศทางขององค์กร เป็นการนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการวิเคราะห์ โดยโอกาสและข้อจำกัด มาทำการประมวลผลเพื่อใช้กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กร  โดยการกำหนดทิศทางขององค์กร สามารถกระทำได้ในลักษณะการกำหนดภารกิจ และการตั้งเป้าหมาย (Mission and Goal Establishment) ขององค์กร จุดมุ่งหมายขององค์กร มีระดับความชัดเจนและความเฉพาะเจาะจงแตกต่างกัน  ซึ่งสามารถจำแนก จุดมุ่งหมายสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์  4  ประการ ได้แก่

           1.1วิสัยทัศน์ (Vision)  หมายถึง ภาพความคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการในอนาคต  วิสัยทัศน์มีลักษณะเป็นเป้าหมายที่มีลักษณะกว้าง เป็นข้อเสนอที่ไม่เจาะจงในรายละเอียด และไม่กำหนดวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน

           1.2 พันธกิจ(Mission)  หมายถึง จุดมุ่งหมายเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ขององค์กร พันธกิจเป็นเครื่องกำหนดขอบเขตการดำเนินงานขององค์กร  ทิศทางก่อนการกำหนดกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ และโครงการ
          1.3  เป้าหมาย (Goal)  หมายถึง จุดมุ่งหมายที่เป็นรูปธรรมขององค์กร  เป้าหมาย ที่เกี่ยวกับการอยู่รอด  การเจริญเติบโต  การทำกำไร การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ   ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางกลยุทธ์ขององค์กร

          1.4 วัตถุประสงค์ (Objective) หมายถึง เป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงและมีผลลัพท์ที่สามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม

                                                       

 ภาพที่2  การกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจ (ธนาคารทหารไทย)

3. การกำหนดกลยุทธ์ (Strategic  Formulation)

  การกำหนดกลยุทธ์ เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจาการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญต่อความสำเร็จของการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ในแต่ละองค์กร ตลอดจนสามารถรู้ทิศทางขององค์กรในอนาคต มาจัดทำเป็นกลยุทธ์ในระดับต่างๆ

3.1 กลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategic) เป็นกลยุทธ์รวมขององค์กร ซึ่งจะถูกกำหนดโดยผู้บริหารระดับสูง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับแนวทางการดำเนินงานขององค์กร  ซึ่งโดยทั่วไปกลยุทธ์ระดับองค์กร แบ่งออกเป็น  3  ประเภท 

             3.1.1 กลยุทธ์การเจริญเติบโต (Growth Strategic)

             3.1.2 กลยุทธ์การรักษาเสถียรภาพ (Stability Strategic)

             3.1.3 กลยุทธ์การตัดทอน (Retrenchment Strategic) 

 3.2 กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategic) หรือกลยุทธ์แข่งขัน (Competitive Strategic) ใช้ในการดำเนินงานที่มุ่งปรับปรุงฐานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ หรือบริการของแต่ละองค์กร  ซึ่งแบ่งเป็น

             3.2.1 กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ (Low Cost Strategic) เป็นการใช้ความสมารถด้านการมีต้นทุนต่ำมาเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน
             3.2.2 กลยุทธ์ความแตกต่าง (Differentiation Strategic) เป็นการใช้ความสามารถด้านการสร้างมูลค่าที่เหนือกว่าในการตอบสนองความต้องการของตลาดมาเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน

3.3 กลยุทธ์ระดับหน้าที่ ( Functional Strategic) จะเป็นกลยุทธ์ของแต่ละหน้าที่ ซึ่งสามารถจำแนก ได้ 6 ประเภท  ดังนี้ การจัดหาวัตถุดิบเทคโนโลยี การผลิตการตลาด  การเงินและการบริหารทรัพยากรมนุษย์(กิ่งแก้ว ทองใบ:2549)
4.การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (Strategic Implementation)    

             การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ เป็นขั้นตอนที่ดำเนินงานต่อจาการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้กลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นเป็นความจริงและประสบความสำเร็จตามต้องการ

 องค์ประกอบของการนำกลยุทธิ์ไปปฏิบัติ อนิวัช แก้วจำนง(2551)  ได้กล่าวไว้ 4 ประการ  ได้แก่ 

      1. การจัดสรรทรัพยากร  เป็นขั้นตอนการวางแผนใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุกลยุทธ์

      2. การปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการใช้กลยุทธ์ และการใช้ทรัพยากร ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กร จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้และความคุ้มค่า

      3. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในส่วนของระบบและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ใช้ในการบรรลุสู่แผนและทิศทางขององค์กร โดยคำนึงถึง ระบบข้อมูลข่าวสาร  ระบบบริหารบุคคล การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร เป็นต้น

      4. การกระจายกลยุทธ์ เป็นการกระจายแผนไปยังทุกๆส่วนทั่วทั้งองค์กร โดยต้องสอดประสานกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ อย่างชัดเจน และเข้าใจ 

      ขั้นตอนในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ ณัฏฐพันธ์  เขจรนันทน์ (2552) ได้กล่าวไว้ 4 ประการ

          1. ทำความเข้าใจกลยุทธ์  ต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับทิศทางและกลยุทธ์องค์กร เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับความต้องการและปรัชญาขององค์กร

          2. กำหนดแผนปฏิบัติการ  โดยวางแผนปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม โดยกำหนดรายละเอียดของขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างชัดเจน

          3. ดำเนินงานตามแผน ผู้บริหารโครงการต้องตรวจสอบตามขั้นตอนที่กำหนด  ตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผน ตลอดจนกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจ  ตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน

          4. ประเมินโครงการ ผู้บริหารโครงการต้องติดตามตรวจสอบผลลัพท์จากขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินว่างานบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดเพียงใด มีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานอย่างไร

          สรุปการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ ผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการปฏิบัติการที่ดี เพื่อสร้างแนวความคิดให้เกิดเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม  สิ่งที่ต้องกระทำในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ การทำความเข้าใจกลยุทธ์  กำหนดแผนปฏิบัติ-การ    ดำเนินงานตามแผนและการประเมินโครงการ  

การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) ตอนที่ 2/4

กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic  PlanningProcess)  

           กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic PlanningProcess) เป็นศาสตร์และศิลป์ ในการดำเนินการ ซึ่งอาจมีความซับซ้อนและยากต่อการเข้าใจ  จึงต้องคิดอย่างเป็นระบบในการกำหนดกรอบของความเป็นองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจส่วนต่างๆ ของการวางแผนกลยุทธ์และสามารถมองเห็นภาพทั้งองค์กรในมุมมองที่เหมาะสม   การวางแผนกลยุทธ์มีส่วนประกอบสำคัญ  ดังต่อไปนี้

1.การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ( Environment Analysis)  ซึ่งเป็นการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยในด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ

              1.1 สภาพแวดล้อมภายนอก (External Environmental) จะประกอบด้วยปัจจัยที่อยู่ภายนอกองค์กร ซึ่งอาจแยกเป็น 2  ระดับ 
                1) สภาพแวดล้อมทั่วไป   ประกอบด้วย อิทธิพลทางการเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจ   เทคโนโลยี   อิทธิพลจากนานาประเทศ เป็นต้น
                 2) สภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน  ประกอบด้วย ผู้รับบริการ  คู่แข่งขัน  ผู้ขายวัตถุดิบ  แรงงาน  กฎระเบียบ   หุ้นส่วน

              1.2 สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environmental) ปัจจัยสำคัญภายในองค์กร ประกอบด้วยเจ้าของ/ผู้ถือหุ้น  ผู้บริหาร  คณะกรรมการบริหาร  ลูกจ้าง  วัฒนธรรมในองค์กร  เป็นต้น

           สรุปการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการวางแผนกลยุทธ์  ที่จะทำให้การกำหนดกลยุทธ์มีความถูกต้องและเหมาะสม ปัจจัยแต่ละส่วนเอื้ออำนวยหรือขัดขวางการดำเนินงานขององค์กร

กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic  PlanningProcess)  

           กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic PlanningProcess) เป็นศาสตร์และศิลป์ ในการดำเนินการ ซึ่งอาจมีความซับซ้อนและยากต่อการเข้าใจ  จึงต้องคิดอย่างเป็นระบบในการกำหนดกรอบของความเป็นองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจส่วนต่างๆ ของการวางแผนกลยุทธ์และสามารถมองเห็นภาพทั้งองค์กรในมุมมองที่เหมาะสม   การวางแผนกลยุทธ์มีส่วนประกอบสำคัญ  ดังต่อไปนี้

1.การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ( Environment Analysis)  ซึ่งเป็นการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยในด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ

              1.1 สภาพแวดล้อมภายนอก (External Environmental) จะประกอบด้วยปัจจัยที่อยู่ภายนอกองค์กร ซึ่งอาจแยกเป็น 2  ระดับ 
                1) สภาพแวดล้อมทั่วไป   ประกอบด้วย อิทธิพลทางการเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจ   เทคโนโลยี   อิทธิพลจากนานาประเทศ เป็นต้น
                 2) สภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน  ประกอบด้วย ผู้รับบริการ  คู่แข่งขัน  ผู้ขายวัตถุดิบ  แรงงาน  กฎระเบียบ   หุ้นส่วน

              1.2 สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environmental) ปัจจัยสำคัญภายในองค์กร ประกอบด้วยเจ้าของ/ผู้ถือหุ้น  ผู้บริหาร  คณะกรรมการบริหาร  ลูกจ้าง  วัฒนธรรมในองค์กร  เป็นต้น

           สรุปการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการวางแผนกลยุทธ์  ที่จะทำให้การกำหนดกลยุทธ์มีความถูกต้องและเหมาะสม ปัจจัยแต่ละส่วนเอื้ออำนวยหรือขัดขวางการดำเนินงานขององค์กร

 

                

                  ภาพที่ 1 ตัวอย่าง รูปแบบการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม( Environment Analysis)